หน้า 1 จาก 2 หลายๆ ท่านที่เริ่มต้นหัดต่อโมเดลคงรู้สึกสงสัยตัวเองว่า เอ๊ะ เราจะเริ่มต้นยังไงดี ก็อีตอนแรกพอได้เห็นโมเดลเป็นครั้งแรกก็คิดว่าไม่ยุ่งยากอะไร เปิดกล่องมาก็เห็นมีแผงพลาสติก บางยี่ห้อก็มีกาวมาให้ด้วย ก็ไม่น่าจะมีอะไร แค่เอาคัตเตอร์มาตัดมันออกจากแผง บางท่านก็คงเล่นง่ายๆ เอาบิดหมุนๆ เอามันออกจากแผงกันเลย หลังจากนั้นก็บรรเลงล่ะ เอากาวที่มันให้มาทาตรงรอยต่อและก็จับมันประกบกัน ถ้าบางกล่องไม่มีกาวให้ก็เอากาวช้างนี่แหล่ะละเลงเลย ทำไปทำมา มันก็ออกมาเป็นตัวแล้ว รูปลอกเขาให้มาไม่รู้ทำไง แน่เลย มันต้องแบบเดียวกับสติกเกอร์ดราก้อนบอล ว่าแล้วก็จัดการเอากรรไกรบรรจงตัดมันออกมาทั้งกระดาษนั้นแหล่ะ และก็เอาไปติด เอ๊ะทำไมติดไม่ได้ ผู้ผลิตนี้งกจริง กาวก็ไม่ทามาให้ ว่าแล้วก็กาวลาเท๊กซ์นี่ทาเสร็จติดเลย ฮะ ฮ่า ใช่ได้ จากนั้นก็เอามาตั้งดู เออ มันก็สวยดีไม่คิดอะไรมาก
แต่พอไปๆ มาๆ ไปเห็นของเพื่อนมันทาสีด้วย เอาล่ะสิ ไอ้ของเรามันโล้นๆ ทาสงทาสีไม่ได้แตะกันเลย อ๊ะ ไม่ได้ล่ะสิ ทำไงดี ก็ต้องเริ่มทาสีบ้างแล้ว ทำเสร็จ โอเค ของเราก็สวยไม่เบา แต่เจ้ากรรมดันไปเห็นเพื่อนอีกคน นอกจากมันทาสีแล้ว ของเพื่อนดันไม่เห็นรอยต่อด้วย แถมสีเส้นแสงมัน ทำไมมันวูบวาบ วูบวาบ อย่างนั้นล่ะ โอ้ยทำไงดี บางท่านก็สู้ขวนขวายทำต่อไป แต่หลายๆ ท่านหมดกำลังใจพาลเลิกไปเลย งั้นทำยังไงดีล่ะเราถึงจะรู้ว่าเราจะเล่นโมเดลยังไงจึงจะเหมาะกับเราล่ะ ถึงจะได้ไม่อายเขา นั่นก็เป็นปัญหาของนักเล่นโมเดลที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ทั่วโลก ที่รู้สึกว่าทำไมเล่นโมเดลไม่ได้เรื่องซักที ทางแก้ปัญหานี้ ผู้เขียนจึงขอเรียนเสนอว่าให้แบ่งชั้นของการเล่นออกเป็นขั้นๆ เพื่อให้ผู้เล่นแต่ละท่านได้รู้ตัวเองว่าเราเล่นอยู่ในระดับไหน เวลาใครถามจะได้บอกได้อย่างภาคภูมิใจว่า ผมระดับมือใหม่นะ ได้อย่างนี้ก็ถือว่าฝีมือดีในระดับนี้แล้ว ในที่นี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอว่าเราควรแบ่งชั้นของผู้เล่นออกเป็นดังนี้ - ระดับ 1 สำหรับผู้เริ่มต้น ( ขอแค่ออกมาเป็นตัวก็พอ อาจมีทาสีหรือไม่ต้องทาสีก็ได้)
- ระดับ 2 สำหรับผู้ต้องการงานที่ดียิ่งขึ้น (ไม่อยากเห็นรอยต่อ)
- ระดับ 3 สำหรับผู้ที่ต้องการงานสีที่เรียบเนียนขึ้นกว่าการทาสี
- ระดับ 4 สำหรับผู้ที่ต้องการฟิลม์สีที่บางสมจริง , รายละเอียดของโมเดลที่ชัดเจนมากขึ้น และสามารถเล่นแสงเงากับตัวโมเดลได้
- ระดับ 5 สำหรับผู้ที่ต้องการความสมจริง ทุกรายละเอียดที่ของจริงมี โมของฉันก็ต้องมีด้วย ( ซีเรียสครับ )
ระดับ 1 เป็นระดับสำหรับผู้เริ่มต้นหรือมือใหม่นั่นเอง ระดับนี้ความคาดหวังก็คงไม่มีอะไรมากนะครับเอาแค่ว่ารู้จักกับคำว่า "โมเดลพลาสติก" ก่อนครับว่ามันคืออะไร และทำอย่างไรมันถึงจะออกมาเป็นตัว ในระดับนี้ก็ไม่มีอะไรมากครับ วิธีการในใบต่อบอกอย่างไรก็ให้ต่อตามนั้นออกมาเป็นตัวได้ ก็ถือว่าจบครับ พื้นฐานที่จะได้จากระดับนี้ก็คือ - การตัดชิ้นส่วนออกจากแผงพลาสติกโดยไม่เกิดความเสียหาย พื้นฐานการใช้มีดหรือคัตเตอร์ในการตัดเอาชิ้นส่วนที่ไม่ต้องการออก บางท่านอาจใช้อาร์ตไนฟ์ก็จะทำให้งานออกมาดียิ่งขึ้นไปอีก
- การอ่านวิธีการประกอบและทักษะการประกอบตามที่คู่มือบอก ซึ่งปกติจะบอกเป็นตัวเลขและเราก็ต่อกันไปตามนั้น
- พื้นฐานการทากาวละลายพลาสติกและการนำชิ้นส่วนต่างๆมาประกบกันโดยไม่ให้เยิ้มหรือเลอะเทอะเปรอะเปื้อนจุดอื่นๆ ที่ไม่ได้ต้องการทากาวซึ่งจุดนี้ต้องเอาอาศัยสมาธิและความมีสติเป็นอันมาก จึงถือได้ว่าการประกอบโมเดลจะเป็นเครื่องมือในการฝึกสมาธิได้เป็นอย่างดี
หมายเหตุ : โมเดลบางชนิดอาจไม่ต้องทำสีก็ได้ เนื่องจากทางผู้ผลิตได้ฉีดพลาสติกออกมาเป็นสีเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ท่านก็อาจไม่จำเป็นต้องทาสีก็ได้แต่จับมาประกอบกันได้เลย โมเดลประเภทนี้ก็เช่น โมเดลกันดั้ม , โมเดลรถ , โมเดลเรือใบ และโมเดลบางยี่ห้อก็มีการฉีดพลาสติกเป็นสีๆ เพื่อให้ผู้ที่เริ่มต้นเล่นโมเดลได้พัฒนาทักษะด้านการประกอบก่อน พื้นฐานการติดรูปลอกน้ำ หรือ Decal นั่นเอง หลายท่านที่เริ่มต้นต่อโมเดลมักเข้าใจผิดกับการจัดการกับเจ้ารูปลอกชนิดนี้ เนื่องจากวิธีการติดมันที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่มีใครเหมือน ซึ่งท่านจะไม่เคยเห็นวิธีแบบนี้ที่ไหนมาก่อนนอกจากงานโมเดลนี้เท่านั้น ทำให้บางท่านเอากรรไกรไปตัดมันและเอากาวลาเท๊กซ์ทาแล้วก็เอาไปติดบนโมเดล ทำเสร็จก็คงเกาหัวแกรก ๆ ว่ามันสวยตรงไหนฟะ บางคนคิดว่ามันคงเหมือนรูปลอกทั่วไปที่ใช้เล็บแกะมันออกจากกระดาษก็พยาย้าม พยายามแกะ แต่มันก็ไม่ออกซักกะทีสุดท้ายมันก็ฉีกกระจุยก็ไม่ต้องต่งต้องติดมันแล้ว เล่นมันโล้นๆ นี่แหล่ะ บางท่านเอาเตารีดไปรีดมันนึกว่าจะออก ปรากฏว่ามันละลายติดเตารีดเลย บางท่านยิ่งหนักเอาไปรีดทับบนโมเลย ผลหรือครับ โมเดลมันทำจากพลาสติก แล้วมันจะเหลือเหรอ แฮ่ะ แฮ่ะ ก็ละลายสิครับท่าน ที่ถูกก็ตามชื่อมันแหล่ะครับ เมื่อเป็นรูปลอกน้ำ มันก็ต้องเอาไปแช่น้ำก่อนให้มันหลุดจากกระดาษก่อนแล้วค่อยเอาไปติดบนโมเดลครับ
- ต่อมาสุดท้าย ก็คงเป็นพื้นฐานของความสุขในการชื่นชมผลงานที่เราเฝ้าอุตส่าห์หลังขดหลังแข็งทำให้มันเป็นตัวออกมาครับ
บางท่านอาจนั่งมองแล้วยิ้มได้ทั้งวัน จนคนข้างๆ มองเราแปลกๆ "มันเพี้ยนหรือเปล่าฟะ" หลายๆ ท่านที่ต่อเครื่องบินเป็นโมเดลตัวแรกก็คงอดไม่ได้ที่ต้องจับโมเดลของตัวเองร่อนไปร่อนมา คล้ายกับเด็กๆ ยิ่งถ้าเป็นโมเดลเครื่องบินใบพัดแล้ว แน่นอนเชื่อว่าทุกท่านต้องเคยเอาเครื่องบินไปจ่อหน้าพัดลมแล้วให้ลมเป่าใบพัดเครื่องบินให้มันหมุนๆ อย่างแน่นอน ครับ อาจพูดได้ว่าความสุขในครั้งแรกคงเป็นความสุขที่หลายๆ ท่านรู้สึกดีจนต้องมีตัวที่ 2 ,3 ,4 และออกมาอีกหลายตัวครับ
ระดับ 2 หลังจากที่ในระดับแรก ชาวโมทั้งหลายก็คงได้สัมผัสและมีความสุขกับโมตัวแรกของท่านไปแล้ว ที่นี้ก็มาสู่การพัฒนาสู่ระดับฝีมือขั้นที่ 2 กันบ้าง หลังจากที่ในระดับแรกท่านได้รู้จักวิธีการตัดโมเดลออกจากแผง การดูคู่มือการประกอบ การทากาวและการประกอบที่ถูกวิธี การทาสีด้วยพู่กัน ตลอดจนการติดรูปลอกน้ำจนได้เป็นตัวออกมาแล้ว ในระดับนี้ ท่านก็จะได้เรียนรู้ถึงการใช้เทคนิคเหล่านี้ - การอุดร่องรอยต่อ ด้วยการใช้พุ๊ตตี้และการใช้กระดาษทรายน้ำและ Mr.Dissolved Putty
- เทคนิคการทำรูปลอกน้ำให้แนบสนิทไปกับตัวโมด้วยการใช้มิสเตอร์ Mark Softener
|